วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556



เรื่อง การร้องสอด

มาตรา 57

บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด

( 1 ) ด้วยความสมัครใจเองเพราะเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา หรือเมื่อตนมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น

( 2 ) ด้วยความสมัครใจเองเพราะตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลไม่ว่าเวลาใดๆกอ่นมีคำพิพากษาขออนุญาตเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วม หรือเข้าแทนที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียทีเดียวโดยได้รับความยินยอมของคู่ความฝ่ายนั้น แต่ว่าแม้ศาลจะได้อนุญาตให้เข้าแทนที่ได้ก็ตาม คู่ความฝ่ายนั้นจำต้องผูกพันตนโดยคำพิพากษาของศาลทุกประการ เสมือนหนึ่งว่ามิได้มีการเข้าแทนที่กันเลย

( 3 ) ด้วยถูกหมายเรียกให้เข้ารมาในคดี (ก) ตามคำขอของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำเป็นคำร้องแสดงเหตุว่าตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องตนได้ เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ย หรือเพื่อใช้ค่าทดแทน ถ้าหากศาลพิจารณาให้คู่ความเช่นว่านั้นแพ้คดี หรือ (ข)โดยคำสั่งของศาลเมื่อศาลนั้นเห็นสมควร หรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอให้กรณีที่กฎหมายบังคับให้บุคคลภายนอกเข้ามาในคดี หรือศาลเห็นจำเป็นที่เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แต่ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีดังกล่าวแล้ว ในเรียกด้วยวิธียื่นคำร้องเพื่อให้หมายเรียกพร้อมกับคำฟ้องหรือคำให้การ หรือในเวลาใดๆ ต่อมาก่อนมีคำพิพากษาโดยได้รับอนุญาตจากศาล เมื่อศาลเป็นที่พอใจว่าคำร้องนั้นไม่อาจยื่นก่อนได้

การส่งหมายเรียกบุคคลภายนอกตามอนุมาตรานี้ต้องมีสำเนาคำขอหรือคำสั่งของศาลแล้วแต่กรณี และคำฟ้องคดีข้างต้นนั้นแนบไปด้วย

บทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้ไม่ตัดสิทธิของเจ้าหนี้ในอันที่จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ให้เข้ามาในคดีดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพงและพาณิชย์

การร้องสอด คือการที่บุคคลซึ่งไม่ได้เป็นคู่ความมาแต่เดิมได้เข้ามาเป็นคู่ความในคดีภายหลังเมื่อมีคดีกันแล้ว ดังที่มาตรา 57 บัญญัติว่า " บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด... "

หลักของมาตรา 57

1. ผู้ร้องสอดต้องเป็นบุคคลภายนอก

2. ต้องร้องสอดเข้ามาในระหว่างพิจารณาในศาลชั้นต้น

3. มีคู่ความในคดีเดิมอยู่ในระหว่างการพิจารณา

4. การร้องสอดนั้นเป็นสิทธิไม่มีบทบังคับ

5. เป็นดุลพินิจของศาล

วิธีการร้องสอด

ตามบทบัญญัติ มาตรา 57 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การร้องสอดมี 2 วิธี ได้แก่

1. การร้องสอดด้วยความสมัครใจ

- เข้ามาในระหว่างพิจารณา มาตรา57 (1)

- เข้ามาในระหว่างบังคับคดี มาตรา57 (1)

- เข้ามาเป็นคู่ความร่วม มาตรา57 (2)

2. การร้องสอดด้วยถูกหมายเรียกให้เข้ามาในคดี มาตรา57 (3)

ขอสังเกต ทั้งสามอนุมาตราของมาตรา ๕๗ จะยื่นเข้ามาในช่วงอุทธรณ์ หรือช่วงฎีกาไม่ได้

การร้องสอดตามมาตร 57 (1) มี 2 กรณี

1. ยื่นคำร้องต่อศาลที่คดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา เพื่ิอให้ได้รัความรับรอง คุ้มครอง หรือบบังคับตามสิทธิที่ตนมีอยู่

2. ยื่นคำร้องสอดเข้ามาในชั้นบังคับคดี เนื่องจากมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องกับการบังคับตามคำพิพากษา

เป็นกรณีที่ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งต่างหากจากคู่ความเดิม ไม่ได้เข้ามาเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมกับคู่ความเดิมหรือเข้าแทนที่คู่ความเดิมโดยการร้องสอดเข้ามาด้วยสิทธิของตนเองเพราะถูกโต้แย้งสิทธิ ตามมาตรา 55 จากการที่ดจทก์และจำเลยพิพาทกันในคดีโดยตั้งเป็นประเด็นพิพาทเข้ามาโต้แย้งกัน โจทก์จำเลยเดิมเพื่อให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่

การร้องสอดตามมาตรา 57 (1) มี 2 ระยะ

1. ร้องสอดในระหว่างพิจารณา

เป็นการร้องสอดในระหว่างที่คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นจนกว่าศาลชั้นต้นจะชี้ขาดตัดสินคดีโดยยื่นคำร้องต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณา ผู้ร้องสอดจะต้องมีความจำเป็น

ความจำเป็น คือ ผู้ร้องสอดจะต้องมีสิทธิที่จะร้องสอด และจะต้องฟังได้ว่าการดำเนินพิจารณาของโจทก์ จำเลยเดิมเดิมกระทบกระเทือนต่อสิทธิของผู้ร้องสอด

ดังนี้ เมื่อเกิดความจำเป็นดังกล่าว ผู้ร้องสอดจึงร้องสอดเข้ามาเพื่อให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่

* การร้องสอดนั้นสามารถร้องได้ทั้งคดีมีข้อพิพาทและคดีไม่มีข้อพิพาท

คำพิพากษาฎีกาที่ 774/2539 การที่ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องเข้าในระหว่างพิจารณาคดีที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมีโฉนดโดยการครอบครองปรปักษ์ โดยอ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิในที่ดินมีโฉนดดังกล่าวนั้น เป็นการร้องสอดด้วยความสมัครใจเอง เพราะเป็นการจำเป็นยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา57(1)

2. การร้องสอดในชั้นบังคับคดี

การร้องสอดนี้เกิดจากการบังคับคดีไปโต้แย้งสิทธิบุคคลภายนอกและเป็นกรณีเดียวที่ร้องเข้ามาได้ หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามมาตรา57 (1) ตอนท้าย (ทุกกรณีจะต้องร้องก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา) โดยยื่นคำร้องสอดต่อศาลที่ออกหมายบังคับนั้น

ข้อแตกต่าง ของการร้องสอดในชั้นพิจารณากับชั้นบังคับคดี คือ ถ้าเป็นการร้องสอดในชั้นพิจารณาโจทก์จำเลยพิพาทกันอยู่ แล้วไปโต้แย้งสิทธิบุคคลภายนอก แต่ในชั้นบังคับคดีคือพิพาทกันเสร็จแล้ว ตอนที่บังคับคดีนั้นไปโต้แย้งสิทธิบุคคลภายนอก

การร้องสอดตามมาตรา 57 (2) มี 2 กรณี

1.ร้องเข้ามาเป็นโจทก์ร่วม หรือจำเลยร่วม

2.ร้องเข้ามาแทนที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียทีเดียวโดยได้รับความยินยอมจากคู่ความฝ่ายนั้นและแม้จะมีการเข้าแทนที่กันแล้ว คู่ความฝ่ายเดิมที่ถูกแทนที่ก็ยังต้องผู้พันโดยคำพิพากษาของศาลทุกประการเสมือนหนึ่งว่าไม่ได้มีการเข้าแทนที่กันเลย

ซึ่งกรณีตามมาตรา 57(2) จะต่างจากมาตรา57 (1) ที่อนุญาตให้เข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ได้ แต่การร้องสอดตามมาตรา 57(2) ไม่อาจที่จะเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ได้ ทำได้เพียงแต่ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความร่วมหรือแทนที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น

ระยะเวลาในการยื่นคำร้องตามมาตรา 57(2)

ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลได้ไม่ว่าเวลาใดๆ ก่อนศาลพิพากษาและมิได้เฉพาะศาลชั้นต้นเท่านั้น

ข้อสังเกตเกี่ยวกับการร้องสอดตามมาตรา 57(2)

1. การร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วม หรือเข้าแทนที่โจทก์ก็จะต้องมีคำฟ้องเดิมเป็นหลักก่อน และถ้าร้องสอดเข้ามาเป้นจำเลยร่วม หรือเข้าแทนที่จำเลยก็จะต้องมีคำให้การเดิมเป็นหลัก

ถ้าไม่มีคำฟ้องหรือคำให้การเดิมอยู่แล้ว ก็จะร้องสอดเข้ามาตามมาตรา 57(2) ไม่ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1050/93,447/14 ป.)

2. ในกรณีที่ร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วม จะต้องมีคำให้การของจำเลยเดิมอยู่ด้วย ถ้าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ การร้องสอดเข้ามาเป้นจำเลยร่วมก็ไม่มีประโยชน์เพราะผู้ร้องสอดตามมาตรา 57(2) จะใช้สิทธินอกเหนือจากจำเลยเดิมไม่ได้ เมื่อยื่นเข้ามา ศาลจะยกคำร้องสอด (คำพิพากษาฎีกาที่ 215/21)

3. ร้องสอดเข้ามาผิดอนุมาตรา ศาลสามารถใช้ดุลยพินิจรับคำร้องสอดตามเนื้อความแห่งคำร้องได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 8992/421329/20)

คำพิพากษาฎีกาที่ 590/2513 คู่สัญญาจะซื้อขายที่ดิน ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องสอดเข้ามาในคดีโจทก์ฟ้องขอแบ่งที่ดินมรดกจำเลย ผู้ร้องสอดอ้างว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของจำเลย จำเลยกู้เงินผู้ร้องไปแล้วตกลงยอมขายที่ดินแปลงนี้ให้ทั้งหมดแก่ผู้ร้องสอดเพื่อเป้นการชำระหนี้ ถ้าจำเลยแพ้คดี ผู้ร้องสอดจะได้รับความเสียหายขอเข้ามาเป้นคู่ความร่วม ข้ออ้างดังนี้ยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องสอดมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี

คำพิพากษาฎีกาที่ 195/2536 บริษัทจำกัด เป็นจำเลยในคดีถูกฟ้องให้ล้มละลาย เช่นนี้ผู้ถือหุ้นของบริษัท จำกัด ไม่มีส่วนได้เสียโดยตรงในผลแห่งคดี เพราะฉะนั้นจะร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามมาตรา 57(2) นั้นไม่ได้

การร้องสอดตามมาตรา 57 (3)

เป็นการที่ผู้ร้องสอด เข้ามาในคดีโดยไม่สมัครใจ แต่ถูกหมายเรียกให้เข้ามาในคดี เมื่อศาลหมายเรียกบุคคลเข้าในคดีย่อมถือว่าบุคคลนั้นเป็นคู่ความในคดีโดยการที่ศาลจะเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดี ซึ่งแบ่งได้เป้น 3 กรณี ได้แก่

1. คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขอให้ศาลเรียกเข้ามา ตามมาตรา 57(3),(ก)

2. มีกฎหมายบังคับให้เรียกบุคคลภายนอกเข้าในคดี ตามมาตรา 57(3),(ข)

3. ศาลเรียกให้เข้ามาเองเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ตามมาตรา 57(3),(ข)

*** คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขอให้ศาลหมายเรียกเข้ามา กรณีนี้เกิดขึ้นโดยคู่ความเดิมในคดีเดิมอาจเป็นโจทก์จำเลยหรือผู้ร้องสอดยื่นคำร้องต่อศาลว่า ถ้าศาลพิพากษาให้ตนแพ้คดีแล้วตนอาจฟ้องหรือถูกบุคคลภายนอกฟ้องได้ เพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ย หรือเพื่อใช้ค่าทดแทน

วิธีการยื่นคำร้องให้ศาลเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดี ต้องยื่นคำร้องมาพร้อมกับคำฟ้องหรือคำให้การ หากไม่ยื่นคำร้องมาพร้อมกับคำฟ้องหรือคำให้การก็อาจยื่นในเวลาใดๆ ก่อนศาลมีคำพิพากษาก็ได้ โดยได้รับอนุญาจากศาล เมื่อศาลเห็นเป็นที่พอใจว่าคำร้องนั้นไม่อาจยื่นก่อนนั้นได้ ตามมาตรา 57(3) ตอนท้าย

ตัวอย่าง เช่น โจทก์ฟ้องว่านายจ้างจะต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดของลูกจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 425

เช่นนี้ หากนายจ้างชอบที่จะขอให้ศาลหมายเรียกลูกจ้างเข้ามาในคดีได้ ตามมาตรา 57(3) เพราะหากศาลพิพากษาให้นายจ้างแพ้คดีแล้ว นายจ้างก็มีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกจ้างได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 426

 
 
 
อ้างอิงจาก :

รองศาสตราจารย์ จักพงษ์ เล็กสกุลไชย (2553).คำอธิบายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง.กรุงเทพฯ : นิติธรรม.

สมชาย พงษ์พัฒนาษศิลป์ และเผ่าพันธ์ ชอบน้ำตาล (2538). ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความทแพ่ง.กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด เจริญรัฐการพิมพ์.